07 ธันวาคม 2555

Health Economics: Cost

สืบเนื่องจากวันก่อนผมไปสัญญาว่าจะเขียนเกี่ยวกับ Health Economics บ้างคร่าวๆ วันนี้ก็เลยขอมารักษาสัญญาด้วยการเล่าเรื่องนี้เบื้องต้นในบล็อกละกันนะครับ

ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนที่ไม่ได้เก่งด้านเศรษฐศาสตร์มาก่อนนะครับ แต่จากในหลักสูตรการเรียน Epidemiology ต้องมีการเรียนการสอนด้านนี้ด้วยก็เลยได้มีโอกาสรู้ในหลายๆ เรื่อง และจริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวเพราะผมเชื่อว่าถึงแม้ทุกอย่างจะซื้อด้วยเงินไม่ได้แต่เราต้องยอมรับว่าเงินเป็นสิ่งกลางในการเทียบเคียงค่าของหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ก็ตาม และในระดับประเทศแล้วการจัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียวครับ

หลักง่ายๆ ของการวิเคราะห์เปรียบเทียบทางเศรษฐศาสตร์ (Economics Evaluation) นั่นก็เหมือนที่เราทำรายรับรายจ่ายนั่นละครับ เนื่องจากทรัพยากรของเรานั้นมีจำกัด (จำนวนเงินมีจำกัด จำนวนหมอมีจำกัด จำนวนยามีจำกัด ฯลฯ) เรามีทางเลือกในการพัฒนาอะไรหลายทาง แต่ถ้าเราเลือกจะพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งแล้วเราจะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาด้านอื่นๆ ไป

ดังนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์เพื่อเทียบเคียงว่า การที่เราเลือกจะทำอะไรลงไปซักอย่างนั้นจะได้ประโยชน์ตอบแทนกลับมาคุ้มค่าซักแค่ไหนกับทรัพยากรที่เราลงทุนลงไป การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้เองเป็นที่มาของวิชาเศรษฐศาสตร์

สำหรับการนำหลักการของเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับวงการสุขภาพนั้น เราจะประเมินความคุ้มทุนได้เราจะต้องทราบถึง cost (ต้นทุน) และ benefit (ผลลัพธ์ที่ได้) สำหรับการประเมินกระบวนการทางสุขภาพแล้ว เรามักจะเทียบ benefit เป็นผลลัพธ์ของสุขภาพ เช่น อัตราการตาย (mortality rate) คุณภาพชีวิต (quality of life) ฯลฯ ครับ

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นถึงการประเมินถึง "ต้นทุน" หรือ cost ก่อนละกันนะครับ เราสามารถแบ่ง cost ได้สามอย่างใหญ่ๆ นั่นคือ

  1. Direct cost เป็นเงินที่จ่ายออกไปจริงๆ (มีควักออกจากกระเป๋าตังค์เมื่อไหร่ นั่นละคือ Direct cost ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะเป็นคนควักจ่ายออกไป)
  2. Indirect cost เป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้มีการควักจ่ายออกไปจริงๆ หากแต่เป็น "ค่าเสียโอกาส" แทนที่เราจะเอาทรัพยากรไปทำเงินได้เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ครับ เช่น การที่ต้องลามาหนึ่งวัน ทำให้ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จำนวน 300 บาทนี้เองที่เราเรียกว่าเป็น Indirect cost
  3. Intangible cost เป็นสิ่งที่ประเมินออกมาเป็นตัวเลขของเงินออกมาได้ยาก พวกนี้จะเช่น ความเจ็บปวด ความกังวล ซึ่งวัดลำบากหรือวัดไม่ได้กันจริงๆ ครับ
นอกจากจะแบ่งเป็น Direct หรือ Indirect cost แล้ว เรายังอาจแบ่งตาม "ความเกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์" (Medical) หรือไม่ เช่นถ้าเป็นพวกค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด ก็จะเป็น Medical cost หากแต่ถ้าเป็นค่าเดินทาง ค่าจ้าง(คนไข้ คนเฝ้าไข้) ก็จะเป็น Non-medical cost ครับ (ส่วน Intangible cost เราวัดกันไม่ได้อยู่แล้ว)

ดังนั้นเมื่อสรุปแล้วมันก็จะมีอยู่ 5 แบบ คือ
  1. Direct, Medical cost ซึ่งก็คือพวกค่าวินิจฉัย (ค่าหมอ ค่าแล็บ) ค่ารักษา (ค่ายา ค่าผ่าตัด ค่าเวชภัณฑ์) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ (rehabilitation)
  2. Direct, Non-medical cost เช่น ค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ค่าอาหาร ค่าที่พักใกล้โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้คนไข้มักจะต้องจ่ายกันเอาเอง ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากระบบประกันได้ นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึงค่าดูแลรักษาที่เกิดจากญาติๆ มาช่วยดูแล (Informal care) ที่อาจไม่มีการควักจ่ายกันจริงๆ ด้วยครับ (ซึ่งถ้าจะควักให้กันจริงๆ ก็คิดได้แต่ไม่มีใครคิด)
  3. Indirect, Medical cost ในหนังสือบางเล่มจะไม่ได้แบ่งว่า Indirect เป็น Medical หรือ Non-medical cost ครับ แต่ในเล่มที่แบ่งก็มักจะหมายความถึงค่าใช้จ่ายในอนาคตที่จำเป็นจะต้องใช้ (เช่น ถ้าคนไข้ตาย ณ ตอนนี้ก็จะไม่ต้องเสียค่าพวกนี้ -- แต่คนไข้ไม่ตายก็เลยจำเป็นจะต้องมีค่ารักษาในอนาคตเป็นต้น) แต่จริงๆ ฟังดูก็สับสนไหมครับ และก็ประเมินยากอีกด้วยครับ
  4. Indirect, Non-medical cost อันนี้เข้าใจง่ายกว่า นั่นคือเป็นค่าเสียโอกาสของคนไข้จากการทำงาน แทนที่เขาจะไปทำงานได้เงิน 300 บาทในวันนั้นเขากลับสูญเสียโอกาสนั้นไป เงิน 300 บาทที่ควรจะได้แต่ไม่ได้นี่ละครับคือ Indirect Non-medical cost
  5. Intangible cost แบบที่กล่าวข้างบนครับ ความเจ็บปวด ความกังวล
ตัวอย่างในการประเมินอาจลองได้จากบทความที่ใน จปสท ตามลิงค์ด้านล่างครับ เรื่องนี้ผมอาจไม่ถนัดมากหากใครมีไอเดียหรือความรู้อื่นๆ มาแชร์กันได้นะครับ

Reference

Annemans L. Health Economics for Non-Economists: An Introduction to the Concepts, Methods and Pitfalls of Health Economic Evaluations: Academia Press; 2008.
http://books.google.co.th/books?id=SePnxIpuKsoC&lpg=PA15&dq=Indirect%20Non%20medical%20cost&pg=PA7#v=twopage&q&f=false

Riewpaiboon A. Measurement of costs. Journal of the Medical Association of Thailand = Chotmaihet thangphaet. 2008 Jun;91 Suppl 2:S28-37. PubMed PMID: 19253485.
http://books.google.co.th/books?id=aO8z7oiaXdkC&lpg=PT41&pg=PT41#v=twopage&q&f=true

4 ความคิดเห็น:

ช่วยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้ด้วยนะครับ
Please leave your comments about this topic.