23 มกราคม 2562

มือใหม่หัดเขียน Proposal: จะเก็บข้อมูลในงานวิจัยอะไรดีบ้าง?

วันนี้ได้มีโอกาสบรรยายเรื่องสถิติให้นักศึกษาปี 1 ฟังครับ

แน่นอนว่าน้องๆ เหล่านี้เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย ความรู้ที่มีติดตัวมานั้นก็เป็นความรู้ระดับชั้นมัธยมศึกษา (ยกเว้นบางคนที่ขวนขวายมากกว่าคนอื่นเลยเคยอ่านหนังสือระดับมหาวิทยาลัยมาก่อน) น้องๆ หลายคน สนใจเกี่ยวกับการทำโปรเจควิจัยทางการแพทย์ด้วย

ซึ่งผมว่านักศึกษารุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญของการวิจัยในอนาคต จึงเป็นสิ่งดี ที่จะได้มีโอกาสในการรับรู้ถึงหลักการของการทำงานวิจัยคร่าวๆ ไม่ต้องทำงานใหญ่มากก็ได้ แต่จะต้องมีไอเดียที่ดีในการออกแบบงานวิจัย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่คณะที่ผมทำงานอยู่ได้มีโอกาสให้น้องได้ลองมาเรียนรู้กัน

หลังจากการบรรยายเสร็จ มีน้องคนหนึ่งถามว่า เอ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะเริ่มเก็บข้อมูลอย่างไรดี

เป็นคำถามที่ไม่แปลก สำหรับมือใหม่ ที่ไม่เคยเก็บข้อมูลมาก่อนเลย อาจจะมีไอเดียในการวิเคราะห์ พยายามหาคำตอบให้กับปัญหาหลายๆ ปัญหาที่พวกเราอาจจะกำลังเจออยู่






สิ่งที่ผมพยายามเน้นสำหรับมือใหม่ในการเขียนแบบเสนอโครงการวิจัย (Proposal) มีอยู่ไม่กี่อย่าง ซึ่งผมเห็นตัวอย่างที่ทั้งดี และไม่ดีมาจากงานวิจัยที่ทำจริงจากนักศึกษาที่จบปริญญาตรีแล้ว มักจะมีปัญหา

อย่างแรกเลยคือ เราต้องตั้งสิ่งที่เราคิดก่อน ว่าเราอยากจะทำอะไรครับ นั่นเป็นที่มาของคำว่า Primary Objective ของงานวิจัย

ทุกอย่างที่งานวิจัยนี้มุ่งเป้า ก็จะไปตาม Primary Objective นี้เป็นอันดับหนึ่ง หมายความว่าจบงานวิจัยนี้แล้ว คุณจะต้องบรรลุข้อนี้ ตอบคำถามนี้ให้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะถ้ายังตอบไม่ได้อย่างเต็มปาก หมายความว่า งานวิจัยนี้ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้นั่นเอง (พูดง่ายๆ ก็คือ Fail)

โดยปกติ Primary Objective มักจะมีเพียงหนึ่งหรือสองข้อ เช่น ตั้งไว้ว่า "อัตราการหายของโรค ในคนที่กินยา กับไม่กินยา ต่างกันหรือไม่" ตอนจบจะต้องตอบได้ว่า ต่าง หรือไม่ต่าง ถ้าตั้งว่า "อัตราการรอดชีวิตของเด็ก เป็นเท่าไหร่" ก็จะต้องตอบตัวเลขได้ว่าเท่าไหร่ ถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์

Primary Objective ไม่จำเป็นจะต้องมีข้อเดียว แต่มากข้อ ก็จะหมายถึงเราจะต้องมั่นในใจคำตอบหลังจากงานวิจัยเสร็จแล้วทุกข้อครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้าในงานวิจัยเราสามารถเก็บข้อมูลอื่นๆ แล้วเอาข้อมูลมาวิเคราะห์เล่นได้ ก็สามารถทำได้ โดยส่วนใหญ่ จะนิยมใส่ไว้เป็น Secondary Objective คือจะตอบได้ก็ดี จะตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร โดยส่วนใหญ่แล้ว Secondary Objective จะเป็นเสมือนไอเดีย ให้คนที่ทำวิจัยครั้งต่อไปมาคิด เพื่อที่จะยกไปเป็น Primary Objective ในงานวิจัยในภายภาคหน้า

เพื่อให้ตอบคำถามได้เต็มปาก หมายความว่า เราจะต้องทำการคำนวณจำนวนตัวอย่าง (Sample Size Calculation) ให้ตอบ Primary Objective ได้ด้วย หมายความว่า มี Primary Objective กี่ข้อ ก็ต้องหา Sample Size ให้ครบถ้วนทุกข้อด้วยเช่นกัน (ส่วน Secondary Objective เป็นผลพลอยได้ของงานวิจัย ไม่เน้น จึงไม่นิยมคำนวณ)

หลังจากเราตั้งได้แล้วว่าเราต้องการหาอะไร อีกอย่างหนึ่งที่ผู้วิจัยมักมีปัญหา คือ แล้วจะเก็บข้อมูลอะไรดีบ้างล่ะ

จริงๆ คำถามนี้ไม่ยาก แน่นอนว่าข้อมูลที่เป็น Primary Objective/Secondary Objective คือข้อมูลหลักๆ ที่เราจะต้องไปเก็บมา ยกตัวอย่างเช่น อัตราการหายของโรค ก็ต้องไปเก็บว่า ใครหาย ใครไม่หายบ้าง ใครได้ยา ใครไม่ได้ยาบ้าง หรือ อัตราการรอดชีวิต ก็ต้องบอกว่าใครรอด หรือไม่รอดบ้าง อันนี้ทุกคนคงคิดออก

แต่แล้วสิ่งอื่นที่ควรจะเก็บล่ะ ควรจะเก็บอะไรอีก เช่น จะต้องเก็บอายุ หรือเพศของคนไข้ไหม จะต้องเก็บน้ำหนักหรือส่วนสูงหรือไม่ จะต้องเก็บอะไรอีกบ้าง นี่แหละที่มักเป็นปัญหาของมือใหม่ ถามว่าทำไมจะต้องเก็บ ก็เพื่อที่จะนำเอาข้อมูลไปบรรยาย หรือวิเคราะห์ปัจจัยกวนในภายภาคหน้าว่า เอ้อ เพราะยาเรานะที่ทำให้คนไข้หาย ไม่ใช่ว่าเพราะคนที่ได้ยาน่ะอายุน้อยกว่าเลยหายเยอะกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้นจะบอกได้ยากมากเลยว่าจะควรเก็บอะไร แน่นอนว่าผู้ที่มีความชำนาญในการวิจัยในเรื่องนั้นๆ ก็มักจะมีไอเดียอยู่แล้ว ว่าจะต้องเก็บข้อมูลอะไรบ้าง อันไหนสำคัญ หรือไม่สำคัญ แน่นอนว่าเราสามารถเก็บข้อมูลทุกอย่างในโลกนี้ได้ เช่น ชื่อพ่อ อายุพี่สาวผู้เข้าร่วมวิจัย แต่ปัจจัยที่ไม่สำคัญแบบนี้ เราจะเก็บมาให้เสียเวลาทำไม เพราะเก็บก็ไม่ได้ใช้ แถมบางทียังอาจจะทำให้คนไข้รำคาญหรือเบื่อในการเก็บข้อมูลที่ดูไม่มีความสำคัญแบบนี้ด้วย ลองนึกถึงว่ามีแบบสอบถามหนึ่งร้อยหน้าที่ต้องตอบ คนไข้คงกระอักกระอ่วนใจในการตอบคำถามแน่ๆ

คำถามนี้จริงๆ แล้วคำตอบคือ แล้วเรารู้อะไรอยู่แล้วบ้างหล่ะ นั่นเป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาในการตอบสักเล็กน้อย ต้องทำการบ้านมากหน่อย สำหรับมือใหม่

สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำคือ ควรจะต้องย้อนกลับไปดูว่า เออ งานวิจัยเก่า ในลักษณะเดียวกัน เขาเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เป็นอย่างต่ำ นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องมองข้ามช็อต ไปดูว่า ตอนนี้ในโรคนั้นๆ เขามีความสนใจกับปัจจัยอะไรอีกบ้าง ซึ่งก็ได้จากการพยายามอ่านหาความรู้อีกนั่นแหละ

นั่นหมายความว่า ในการเป็นนักวิจัยมือใหม่ คุณจะต้องเป็นคนที่เริ่มจากการอ่าน อ่าน และอ่าน ถ้าไม่อ่าน งานวิจัยของเราก็จะถูกเป็นเป้าให้คนอื่นชี้จุดบอดอยู่เสมอ แต่ถ้าเราอ่าน และเก็บข้อมูลอย่างรัดกุม เราก็จะตอบคนที่สงสัยได้ว่า ทำไมเราถึงเก็บข้อมูลอันนี้ หรือทำไมเราไม่เก็บ

อันนี้คือสิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับมือใหม่ครับ

(ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เขียนมาเป็นปีเพราะมัวแต่ทำอย่างอื่น ต้องขออภัยด้วยนะครับ :) )

2 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีคะ
    ชื่อของฉันคือทับทิม ดิฉันทำงานเป็น Linkbuilder บริษัท ของฉันมีเว็บไซต์ไม่กี่
    และเรามีความสนใจที่จะลงโฆษณากับเว็บไซต์ของคุณ และฉันจะจ่ายให้คุณ
    วิธีการโฆษณาที่เราจะทำคือเราจะส่งบทความที่เกี่ยวกับเว็ปไซต์ของคุณโดย
    หากคุณสนใจโปรดติดต่อเราและบอกฉันราคาหนึ่งบทความบนเว็บไซต์ของคุณ
    ต้องขอโทษด้วยสำหรับภาษาไทยของดิฉัน ถ้าคุณพูดภาษาอังกฤษกรุณาแจ้งด้วยคะ
    ขอบคุณที่อ่านอีเมล์ของเรา
    ทับทิม

    Hello,
    My name is Ruby, I work as linkbuilder and my company has few websites .I want to publish an article on your website with a link to one of my sites, and I will pay you for it.
    The article will have good and original content, and will be related to your website.
    If you are interested, please feel free to contact us and quote me the price one article on your website.
    I appreciate it if you can speak in English. I'm not good at Thai language.
    Looking forward to your reply.
    Best Regards & Thanks.
    Ruby

    ตอบลบ

ช่วยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้ด้วยนะครับ
Please leave your comments about this topic.